[article] เรื่องของ Gen ความมั่นคง ความทน(อยู่) และวิถีชีวิตของงาน ตอนจบ

 
 
 
เรื่องของ Gen  ความมั่นคง ความทน(อยู่) และวิถีชีวิตของงาน!!!



 
ตอนจบ  ลิงค์ตอนที่ 1
     ในตอนที่ผ่านมา ผมได้เขียนเกี่ยวกับข้อแตกต่างและแนวคิดในการทำงานระหว่างคน Gen X และ Gen Y กับเรื่องความมั่นคงในงานว่ามีมิติที่แตกต่างกันอย่างไร เรามาต่อกันจากบทสัมภาษณ์ผู้อาวุโสในสายงานที่ผมนับถือ ที่จะมาพร้อมการเดินทางของการทำงานที่เป็นสัจธรรมได้ระดับหนึ่ง และมาต่อด้วยภาคจบของ Job security กับภาวะเขาควายกันต่อเลย

     enlightened ...หลายปีก่อน ผมมีโอกาสได้คุยกับผู้อาวุโสในวงการ IT ท่านหนึ่ง (มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมกว่า 40 ปี และอายุย่างเข้า 70 ในปัจจุบัน) ท่านนี้เป็นผู้สร้าง Country manager และผู้บริหารระดับสูงหลายท่านในวงการ IT ในประเทศไทย ท่านได้ให้แนวคิดกับผมว่า เมื่อตอนสมัยที่ IT Vendors เข้ามาเปิดสาขาที่ประเทศไทยใหม่ๆ เมื่อ 25-30 ปีที่ผ่านมาแล้วต้องหา Country manager หรือ Country lead แล้ว เค้าจะจ้างคนที่มีความสามารถที่ "เก่งเยี่ยม" มาบริหาร พร้อมกับ "เป้า" ที่สูงขึ้นทุกปีตามระบบทุนนิยม แล้วคนเก่งที่อยู่ในตำแหน่งนี้ มักจะ "แพ้" เป้าหรือยอดขายตัวเอง เมื่อเข้าสู่ปีที่ 4-5 ดังนั้น เมื่อเป้าไม่ได้ ก็จะโดนกดดันจนต้องออกไปเอง (ยกเว้นว่า Country manager ท่านนั้นจะเก่งในเกมการเมืองภายใน หรือก้าวขึ้นระดับ Regional ซึ่งก็มีน้อยมากๆ) แล้วก็จ้างคนใหม่ที่เงินเดือนน้อยกว่ามาบริหารแทนพร้อมไอเดียใหม่ๆ แบบนี้เป็นวัฏจักร ด้วยแนวคิดนี้ มันก็สะท้อนความมั่นคงของ "งาน" ได้ระดับหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็ก-ใหญ่ แค่ไหน ต่างก็ต้องเผชิญจุดนี้ทั้งหมด ไม่อย่างนั้น องค์กรก็ไม่โต

     ...ไม่มี Job security ที่แท้จริงในตลาดงาน! มันเป็นเรื่องจริงมากกว่าการถูกปิดกั้นไม่ให้รับรู้ การถูกปลูกฝังว่าทำงานเป็นพนักงานบริษัท แล้วมั่นคง / ผมอยากให้มองกลับกันว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัท แล้วรายได้ไม่เข้าตามแผน พนักงานไม่มีประสิทธิภาพ โอกาสการแข่งขันลดลง แล้วเราจะเอาพนักงานบริษัทจำนวนเท่าเดิมอีกหรือไม่ (เรื่องแบบนี้ Gen Y กับ Gen M (เริ่มเข้าสู่ตลาดงานในปัจจุบัน) คิดเร็วและไวมาก จนผมเองก็กลัวกับความไวนี้ครับ เพราะมันหมายถึงว่า New Gen เหล่านี้ ก็สามารถหาโอกาสในการสร้างรายได้และมูลค่าให้กับตัวเองได้เร็วกว่าเรานั่น เอง !!!)

     แต่ข้อดีของการทำงานในบริษัท หรือองค์กรก็มีข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการได้สัมผัสกับวัฒนธรรมองค์กร เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสัมพันธภาพระหว่างปัจเจกและหมู่คณะ อีกทั้งยังได้เรียนรู้ประสบการณ์การบริหารงานจากองค์กรหรือหัวหน้างาน ขณะที่บางสายงานยังได้มีโอกาสมาประลองในสนามแข่งขันในตลาดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ในที่ที่อุดมไปด้วยหมู่คณะ ก็มีความหลากหลายระหว่าง Gen อยู่มาก แนวคิดในการสั่งสมประสบการณ์เพื่อสร้างความสำเร็จก็แตกออกไปได้หลายทาง อีก 5 ปีให้หลัง ต่าง Gen ก็จะมีความสำเร็จที่แตกต่างกันด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เริ่มสังเกตได้ชัดเจนและจะชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ Gen Y และ Gen M (ประปราย) มักจะมีความกล้าที่จะท้าทายในการทำงานมากขึ้นในเชิงพฤติกรรมการทำงาน กรอบแนวคิด และวิธีเอาตัวรอดในการหาเลี้ยงชีวิต (ทั้งอยู่ต่อในองค์กร และลาออกไปเป็นเจ้าของกิจการเอง) มากกว่า Gen X อย่างจริงแท้

     ...คน early Gen Y (1980-1984) ที่ผมเจอ ได้คุยบ่อยๆ ที่รู้จักและประสบความสำเร็จหลายคน ก็บอกว่า ถ้าเรามีความสามารถเฉพาะแบบที่เราต้องการแล้ว ทำไมเราไม่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ โดยการเข้าไปพักฐานจากองค์กรชั้นนำสักพัก แล้วก็ออกมาทำเองเลยหล่ะ?

     Gen Y ส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็เข้าสู่กระแสนิยมของการมีงานมากกว่า 1  อย่าง (หลายคนที่ผมรู้จัก มีทั้งงานหลัก งานเสริม งานฝิ่น ขายสินค้าออนไลน์ และงานเข้าเวรรอบดึกต่อเนื่อง) ทั้งงานหลักและงานเสริม ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างแหล่งรายได้และความมั่นคงให้แก่ตัวเอง คน Gen นี้ มักจะมีความเชื่อมั่นกว่าคนใน Gen ก่อน ด้วยหลักคิดที่ว่า ก็ในเมื่อเราก็มีความสามารถ และเป็นความสามารถที่ได้มาด้วยความสุจริต!!!  ทำไมเราจะทำงานพร้อมกันหลายอย่างไม่ได้ หรือว่า... Gen X ทำไม่ได้แบบนี้ ก็เลยต้องมาห้ามไม่ให้ Gen Y ทำบ้าง ในขณะที่เราอยู่ในองค์กรหรือบริษัท เราก็ทำงานแลกเงินเดือนนะ แลกกับผลงาน ไม่ได้มานั่งรับเงินฟรีๆ ขอให้ส่งงานได้ ทำงานเป็น ปิดจ็อบได้เป็นพอ !  ไม่แปลกเลยถ้า Gen Y สามารถบริหารจัดการเวลาส่วนตัวได้ดีกว่า
(ผมค่อนข้างประทับใจกับเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้นะครับ ที่ทำงานประจำช่วงเวลาปรกติ ส่วนตอนค่ำก็มารับงานพิเศษนอกเวลา บางคนที่รู้จักยังมาเปิดท้ายรถขายของตามตลาดนัดทุกวันเสาร์อีกด้วย หรือในบางวิชาชีพพิเศษ การรับงานเสริมนอกเหนือจากเวลาปรกติเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ทั้งเข้าเวรบ่าย-เวรดึก และเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรหลายที่พร้อมกันอีกด้วย)

     ...ขณะที่คน Gen X เองกลับมองว่า พวก early Gen Y เหล่านี้ เป็นพวกไม่รักองค์กร ไม่มี Loyalty ไม่ช่วยเหลือองค์กร และ บลา..ๆ ๆ ..ๆ เป็นต้น ไม่มีใครผิดหรอก ก็แค่นานาจิตตัง  แต่เชื่อไหมว่า...เจ้าของกิจการเกิดใหม่ รายได้ดี มีชื่อเสียง กลับเป็น early Gen Y เสียซะส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน !

บทสรุปของความต่าง

     ...ไม่ว่า Gen X หรือ early Gen Y หลายรายเมื่อเข้าทำงานกับองค์กรถึงระยะหนึ่งแล้ว (ประมาณอายุ 32-36ปี) หรือมีประสบการณ์ในช่วงประมาณ 10+ ปี นี่แหละ ที่ทุกอย่างเริ่มนิ่ง เริ่มตั้งตัวได้ และพร้อมลุยต่อแต่ยังไม่แน่ใจหรือยังมีความกลัวอยู่ภายในว่าจะเลือกเส้นทาง ชีวิตอย่างไรดี จะออกมาเริ่มต้นธุรกิจเอง หรืออยากเป็นลูกจ้างมืออาชีพอยู่ มักจะตกอยู่ในภาวะ "เขาควาย" หรือทางสามแพร่งของชีวิตการทำงานเลย เพราะกำลังติดกับคำว่า "COMFORT ZONE" นั่นเอง และเริ่มกลัวกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องงาน ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรเช่นกัน เพียงแต่เขาเหล่านั้นมักจะไม่กล้าคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วไม่กล้ากระโดดออกจากกล่องไปแสดงความสามารถที่พรั่งพรู เพราะอาจจะกลัวว่าจะ "อดตาย" นั่นเอง ...ประเด็นนี้ก็สะท้อนถึงความสามารถภายในแบบ inner ได้เช่นกัน (แน่นอนว่า ...ช่วงวัยนี้เริ่มคิดเยอะละ เพราะหลายท่านก็ต้องใช้ชีวิตเงินผ่อนสมบูรณ์แบบ เช่น บ้าน คอนโด รถ และจิปาถะ)


     enlightened ... ไม่ว่า Gen X หรือ Y ต่างก็ต้องการความมั่นคงในรายได้และเรื่องงานเช่นกัน แต่เขาเหล่านั้นกลับมีแนวคิดที่แตกต่างกัน ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูกหรอก สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งที่จีรังแน่แท้คือ "ความสามารถ" นั่นเอง สังเกตจาก Gen Y ที่ประสบความสำเร็จตอนนี้ ส่วนใหญ่มักก้าวออกมาเป็นเจ้านายตัวเองอย่างมั่นใจในช่วง 30-32 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่พร้อมทั้งประสบการณ์ พร้อมทั้งกำลัง พร้อมทั้ง Business connection และเงินทุนสักก้อนที่ได้มาลองกันสักตั้งแล้วนั่นเอง
 
(early Y ก็ยังทันนะครับในช่วง 36-39ปี แต่อย่าเริ่มต้นตอนอายุ 40 เลย สมัยนี้ผมว่ามันสายเกินไป
แต่ถ้าเป็น Gen X สมัยวัยรุ่น ผมมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40 กำลังดี)


ท้ายสุดขอฝากไว้เรื่องการวัดผลของงานในองค์กร คงไม่มีใครถูกวัดผลนอกเหนือจากนี้ไม่ว่าจะทางตรงหรือถูกวัดผลทางอ้อมนะครับ
 - บางที่ ผลของงานคิดเป็น task
 - บางที่ ผลของงานคิดเป็น manhour
 - บางที่ ผลของงานคิดเป็น unit-sales

-บางตำแหน่ง ผลของงานคิดเป็น target
-บางตำแหน่ง ผลของงานคิดเป็น %engagement
-บางตำแหน่ง ผลของงานคิดเป็น %margin
-บางตำแหน่ง ผลของงานคิดเป็น %utilization
-บางตำแหน่ง ผลของงานคิดเป็น run rate

 
หลาย ๆ ที่ ขอแค่ “ตอกบัตร” มาตรง ก็พอละ
...แต่หลายๆ ตำแหน่ง ผลของงานคือ ต้องนั่งแช่ที่เก้าอี้ทำงาน มาตรง-กลับตรง นะคร้าบบบบ
อรรถ #AttDigifast  
 
 
Created date : 23-08-2016
Updated date : 23-08-2016
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Att Digifast
ผู้เขียนมีประสบการณ์ในแวดวงอุตสาหกรรม IT และ Telecom ในประเทศและแถบภูมิภาคอาเซียนมากว่า 15 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านวิเคราะห์และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี กลยุทธ์ แนวโน้มเทคโนโลยี การเข้าถึงตลาด ( Go-to-Market) และที่ปรึกษาการเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจโดยใช้ "ICT" เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles