[article] แพ้อาหาร เรื่องใกล้ตัว ที่ใครๆก็เป็นได้

 
 
 

แพ้อาหาร คืออะไร!!

          ทุกครั้งที่เรากินอาหารและเริ่มสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่นตุ่มแดง ผดผื่นคัน วิงเวียน มึนงง พะอืดพะอม คลื่นไส้ ท้องอืด จุกเสียด อาหารไม่ย่อย เกิดแก๊สในลำไส้ ฯลฯ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า 

“ชั้นต้องแพ้อาหารแน่ๆ” 

คำๆนี้มีรายละเอียดเฉพาะมากกว่าที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย จนทำให้รู้สึกว่ามีคนเป็นกันมาก ทางสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารในประเทศไทย (FOSTAT) ระบุว่าผู้ใหญ่มีอาการแพ้อาหารเพียง 2 % จากประชากรทั้งหมด ซึ่งหากเทียบกับเด็กแล้วพบว่ามีการแพ้อาหารมากกว่านั่นคือ 5 % ด้วยเหตุนี้คนที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นอาจไม่ได้ “แพ้อาหาร” จริงๆ ก็ได้ อาจเป็นเพียงแค่ร่างกาย “ย่อยอาหารบางชนิดไม่ได้” 


ที่จริงแล้ว เป็นการ "เรียกขึ้นเองให้คนเข้าใจ"



         “แพ้อาหาร” กับ “ย่อยอาหารบางชนิดไม่ได้” ต่างกันยังไง? จะรู้และป้องกันยังไง? เพราะเราต้องกินอาหารทุกวัน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คุณควรรู้!!!!  


      
          “แพ้อาหาร” ไม่ได้เกิดจากอาหารคุณภาพไม่ดี จนทำให้ร่างกายยอมแพ้ เลยส่งสัญญาณฟ้องเตือนเจ้าของ แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันชนิดอี (Immunoglobulin E : IgE) ในร่างกายปฏิเสธสารอาหารนั้น 

         ถึงก่อนหน้านี้เราจะเคยกินมาก่อนแต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไร แถมยังแข็งแรงดี  จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้ว่าทำไมร่างกายถึงแสดงอาการต่อต้าน!!!  รู้แต่กลไกการเกิดปฏิกิริยาการแพ้เท่านั้น  คือเมื่อสารอาหารถูกย่อยหรือดูดซึม ร่างกายจะหลั่งสารเคมีบางอย่างที่มีผลทำให้แสดงอาการแพ้ ดังนั้นหากสารเคมีนี้หลั่งอยู่บริเวณเนื้อเยื่อที่ใดก็จะเกิดอาการแพ้ที่นั่น เช่น เกิดที่ปาก จมูกหรือคอ ก็จะมีอาการคันที่ปาก หายใจลำบากหรือกลืนลำบาก // เกิดที่ผิวหนังก็จะเกิดตุ่มแดงคัน เป็นผื่นลมพิษ  // ถ้าเป็นที่ระบบทางเดินอาหาร ก็จะมีอาการปวดท้องหรือท้องเสีย 


อาหารที่คนมักจะแพ้บ่อย?

          อาหารที่คนมักจะแพ้กันบ่อยๆ คือ อาหารทะเล พวกกุ้ง ปู ปลา นม ไข่ เห็ด ถั่วและเมล็ดธัญพืช และสารปรุงแต่งอาหาร ที่ใส่ระหว่างกระบวนการผลิตอาหารเพื่อปรุงแต่งให้รสชาติอร่อยขึ้น หรือรักษาคุณภาพของอาหารให้เก็บไว้ได้นาน เช่น ดินประสิว กรดไนไตรต์ กรดโซบิค เบนโซเอต ซัลไฟต์ สีผสมอาหาร (azo dye) หรือผงชูรส สารเหล่านี้ผสมในอาหารเพื่อป้องกันเชื้อราหรือแบคทีเรีย ทำให้อาหารน่ากิน มีรสชาติกลมกล่อมหรือกรุบกรอบ (Process Food)

         ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการแพ้มาจากโปรตีนหรือสารประกอบอื่นๆ ในอาหารไม่สูญสลายไปกับความร้อนขณะปรุงอาหารหรือย่อยในกระเพาะอาหาร  ดังนั้นเมื่อร่างกายดูดซึมสารอาหารนี้ผ่านลำไส้เล็กทางกระแสเลือด จึงมีผลทำให้เกิดอาการแพ้ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย แต่ละคนก็จะแสดงอาการแพ้ที่รุนแรงน้อย-มากแตกต่างกัน 


         ตั้งแต่อาการแสบร้อนบริเวณคอ ปวดศีรษะหรือเจ็บหน้าอก จนถึงเกิดอาการช็อก ความดันโลหิตตกเฉียบพลัน หรือหากเกิดในระบบทางเดินหายใจ มีอาการหอบหืดจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งอาการทั้งหมดนี้อาจเกิดได้เพียงเวลาไม่กี่นาทีหรือหลายชั่วโมงหลังการกิน 


         ข้อแตกต่างระหว่าง “แพ้อาหาร” กับ “การรับอาหารไม่ได้”
         การแพ้อาหารเป็นเรื่องที่คาดเดายากและไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่า เพราะร่างกายแต่ละคนมีความไวต่อสารอาหารมากน้อยแตกต่างกัน  เลยอธิบายได้ว่าทำไมบางคนกินอาหารอะไรก็ไม่แพ้ แต่บางคนแพ้อาหารบางอย่าง  การแพ้อาหารยังเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ หากสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ หรือแพ้อาหาร คุณก็อาจแพ้อาหารได้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากการแพ้อาหารเป็นเรื่องซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงแตกต่างกัน จึงไม่น่าแปลกที่หลายคนจะเข้าใจผิดและสับสนกับอาการผิดปกติอื่นๆ ได้แก่ โรคอาหารเป็นพิษที่เกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรีย เช่น E.coli หรือ Salmonella ที่ทำให้เกิดอาหารปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน 
        แต่อาการที่สร้างความสับสนกับ “การแพ้อาหาร” คือ “การรับอาหารไม่ได้” (Food Intolerance) เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่มีต่ออาหารหรือสารปรุงแต่งที่กินเข้าไป ซึ่งไม่ได้เกิดจากมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยรวมอาการปฏิเสธอาหารบางชนิดนี้มักไม่รุนแรงเหมือนการแพ้อาหาร อาหารส่วนใหญ่ที่ร่างกายแสดงว่ารับอาหารไม่ได้ ได้แก่ 

         
นม เกิดจากร่างกายไม่มีเอนไซม์เพื่อย่อยน้ำตาลในนมได้ (Lactase deficiency) ซึ่งพบได้ 1 ใน 10 คน ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ เกิดอาการท้องอืด ปวดท้องหรือท้องเสีย นอกจากนี้ยังมีอาหารจำพวกแป้งข้าวสาลี หรือกลูเต็น ที่ร่างกายย่อยไม่ได้ (Gluten intolerance) ซึ่งคนผิวขาวจะเป็นมากกว่าคนเอเชีย

         
สารประกอบทางเคมีในอาหาร บางอย่างที่มีผลต่อระบบการทำงานในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดการแพ้อาหาร เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะอาหารที่มีสารฮีสตามีนตามธรรมชาติ เช่น ช็อกโกแลต ผลไม้รสเปรี้ยว เนยแข็ง ไวน์ ไส้กรอก ปลาซาร์ดีน เป็นต้น

 

กลเม็ดรู้ทันเพื่อป้องกันการแพ้อาหาร

        คนที่สงสัยว่าแพ้อาหารอาจรู้สึกหงุดหงิด เพราะไม่รู้ว่าอาหารที่กินจะมีสารกระตุ้นทำให้เกิดอาการแพ้อาหารรึเปล่า?  และทุกครั้งที่กินอาจไม่เกิดอาการแพ้ หรือบางครั้งมีอาการแพ้น้อยมากและหายอย่างรวดเร็ว แต่เพื่อความไม่ประมาท เราขอเสนอวิธีรู้ทันเพื่อป้องกันการแพ้อาหาร คือ

        - หมั่นสังเกตความผิดปกติหลังจากกินอาหารและจดบันทึก ส่วนประกอบและชนิดของอาหารที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุของการแพ้ รวมถึงปริมาณที่กินและความบ่อยของการกิน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อปรึกษาคุณหมอ ซึ่งหมอจะถามประวัติครอบครัวเพิ่มเติม รวมถึงโรคประจำตัวหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อตีกรอบให้คำตอบแคบและชัดเจนมากที่สุด ทั้งนี้การแพทย์เสนอวิธีตรวจสอบสาเหตุของการแพ้อาหารที่ถูกต้องด้วยการทดสอบตามหลักวิทยาศาสตร์ นั่นคือ 

        - Prick Test เป็นการทดสอบการแพ้อาหารด้วยการแต้มสารสกัดจากอาหารลงบนท้องแขน โดยภายใน 20 นาที หากมีตุ่มแดงหรือลมพิษขึ้นก็แสดงว่าอาหารนั้นมีผลกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเคมีบางอย่างเพื่อต่อต้าน ซึ่งจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง 
    แต่การทดสอบนี้มีข้อห้ามหลายอย่าง เช่น 

*เมื่อทดสอบกับผู้ที่กินยาแก้แพ้ (แอนติฮีสตามีน) จะไม่ได้ผล  


 

*ห้ามทดสอบกับคนที่เคยมีอาการแพ้โปรตีนขั้นรุนแรง 

*หรือขณะทดสอบมีปัญหาโรคผิวหนังบางอย่าง มีผิวหนังอักเสบหรือเป็นลมพิษเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงให้มีอาการแพ้รุนแรงและเป็นอันตรายได้ 

*ไม่ควรทดสอบกับเด็กเล็กและหญิงมีครรภ์


        - RAST เป็นการเจาะเลือดเพื่อนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นขั้นตอนถัดมาเมื่อทำ Prick test ไม่ได้ผล หรือเพื่อยืนยันผลให้ละเอียดและชัดเจนขึ้น ซึ่งช่วยทำให้ทราบกลุ่มอาหารที่จะเกิดการแพ้ได้กว้างขึ้น


        - หลังจากที่คุณรู้แล้วว่าแพ้อาหารชนิดใด วิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ด้วยการพิจารณาจากส่วนประกอบและส่วนผสมของอาหารทุกครั้งก่อนซื้อ (หากมี) หรือหากเป็นไปได้ปรุงอาหารเองที่บ้านเองย่อมปลอดภัยและสะอาดที่สุด 


        - พกยาแก้แพ้ติดตัวเผื่อยามฉุกเฉิน ยาแก้แพ้ (แอนติฮีสตามีน) ที่ควรติดไว้ในกระเป๋า ลิ้นชักในรถยนต์ โต๊ะทำงานหรือที่สามารถหยิบใช้ได้ง่ายยามเกิดแพ้อาหาร และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบอกให้สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนรอบข้างให้ทราบว่าคุณแพ้อาหารชนิดใดบ้าง เผื่อว่าในกรณีแพ้อาหารเฉียบพลันจะได้ช่วยเหลือได้ทัน 


 

        การแพ้อาหารอาจฟังดูไกลตัว แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถรู้ได้ว่าในอนาคตจะเกิดแพ้อาหารชนิดใดได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือสมาชิกในครอบครัวมีประวัติแพ้อาหาร ยิ่งจำเป็นต้องรู้จักรายละเอียดของอาการและวิธีป้องกันอย่างถูกต้อง เพื่อให้อาหารมื้อนี้ไม่ทำร้ายกายให้ลำบากและทำลายบรรยากาศให้หมดสนุก 


รู้หรือไม่?
          ทารกและเด็กเล็กมีโอกาสแพ้อาหารได้มากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมผงดัดแปลง หรือนมถั่วเหลือง ซึ่งเป็นอาการแพ้จากความไม่สมบูรณ์ของภูมิต้านทานและระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง มีเลือดออกปนในอุจจาระ ทำให้นอนไม่หลับและร้องไห้งอแง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการโคลิก อย่างไรก็ตามการให้นมแม่อย่างเดียวโดยไม่ให้อาหารอย่างอื่นตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 เดือน สามารถลดความเสี่ยงหรือเลื่อนเวลาการแพ้นมและถั่วเหลืองได้! เพียงแต่ว่าคุณแม่ต้องระวังการกินอาหารที่มีผลต่อการเกิดอาการแพ้ของลูก 

Credit
- http://www.healthtoday.net
- https://s-media-cache-ak0.pinimg.com
- https://www.choice.com.au
-วิภา สุโรจนะเมธากุล. ภูมิแพ้อาหาร . นวัตกรรมอาหารสร้างคุณค่าสานเศรษฐกิจไทย (กันยายน 2551). หน้า 46
-นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี. แพ้อาหาร ที่แท้นั้นเป็นอย่างไร. HealthToday 4 (39; 2547) หน้า 32-34
-Tips to Remember : Food allergy. American Academy of Allergy Asthma & Immunology (http://www.aaaai.org/patients/publicedmat/tips/foodallergy.stm)
- https://s-media-cache-ak0.pinimg.com


พอเข้าใจกันไม๊คะ ไม่ยากเกินไปเนาะ ^^
 
แวะมาแลกเปลี่ยน พูดคุย กับพี่โอ๋ ได้ที่นี่นะ  : OaBodymild
"อยากเห็นทุกคน สุขภาพดี"
 
ขอบคุณบทความดีๆจาก 
www.letterplanet.com/blog/OaBodyMild
 
Created date : 09-06-2016
Updated date : 09-06-2016
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Team

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles