[article] โรคอัลไซเมอร์ ภัยร้ายใกล้ตัว ที่คอยจะแผลงฤทธิ์กับผู้สูงวัย

 
 
 
       อัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease) โรคที่เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมชนิดที่พบได้มากที่สุด ส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมความคิด ความทรงจำ และการใช้ภาษา อาการของโรคจะเริ่มจากการหลงลืมที่ไม่รุนแรงจนแย่ลงเรื่อย ๆ ถึงขั้นไม่สามารถสนทนาโต้ตอบหรือมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างร้ายแรง
 

     โรคอัลไซเมอร์จะพบในผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบอัตราการเป็นโรคมากขึ้น โดยในช่วงอายุ 65-69 ปี พบอุบัติการณ์การเกิดผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 3 คนต่อพันคนต่อปี แต่หากเป็นช่วงอายุ 85-89 ปี จะพบสูงถึง 40 คนต่อพันคนต่อปี พบได้ในทุกเชื้อชาติ

      เพศหญิงพบมากกว่าเพศชายเล็กน้อย อาจเนื่องจากเพศหญิงมีอายุยืนยาวกว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 2-4% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และจะพบเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 5 ปีหลังอายุ 60 ปี


อาการของอัลไซเมอร์

       อาการเริ่มแรกของโรคอัลไซเมอร์อาจมีอาการหลงลืมหรือภาวะสับสนที่ค่อย ๆ พัฒนาไปอย่างช้า ๆ โดยใช้เวลาหลายปี ซึ่งบางครั้งมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่นจนทำให้เกิดความสับสน และอาจเข้าใจผิดไปว่าเป็นเพียงอาการหลงลืมเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งนี้อาการในผู้ป่วยแต่ละรายก็พัฒนาช้าเร็วแตกต่างกัน ทำให้สามารถคาดเดาได้ยากว่าอาการจะแย่ลงเมื่อใด

   อย่ามองข้ามสัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้นดังต่อไปนี้
 
       - รู้สึกหมดแรงและเหนื่อยล้า
       - สูญเสียความจำ
       - อารมณ์แปรปรวนฉับพลัน
       - รู้สึกโกรธและหงุดหงิดตลอดเวลา
       - ตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่ๆช้าลง
       - เรียนรู้สิ่งใหม่ๆยากมาก
       - สูญเสียความสามารถในการเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง
       
 การป้องกันโรคอัลไซเมอร์
       
       เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม ยังพอมีหนทางที่อาจช่วยชะลอการเริ่มต้นของโรค คือการลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้จะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดตามมา โดยควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

- เลิกสูบบุหรี่  
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ โดยเลือกรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 5 ส่วน
- หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที อาจเฉลี่ยเป็นวันละ 30 นาที ใน 5 วันต่อสัปดาห์ ควรเลือกการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ให้ร่างกายได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ซ้ำๆ เช่น ปั่นจักรยาน วิ่งเร็ว จะช่วยให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจดีขึ้น
- ตรวจและควบคุมระดับความดันโลหิต
- หากป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมการรับประทานอาหารและการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ

 

       ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด การรักษาด้วยยาอาจช่วยรักษาอาการที่เป็นได้มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ไม่มียาตัวไหนที่จะสามารถชะลอหรือหยุดการดำ เนินของโรคได้ แบ่งการรักษาออกได้เป็น

       การรักษาด้วยยา แบ่งเป็น


- การรักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่รุนแรง รวมทั้งอาการประสาทหลอน โดยการใช้ยารักษาโรคจิตมารักษาตามอาการที่ปรากฏ
- การรักษาอาการความจำเสื่อม ปัจจุบันมียาอยู่ 4 ชนิดที่ได้รับการรับรองจากคณะ กรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ในการนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ คือ Donezpezil , Rivastigmin, Galantamine และ Memantine มีการศึกษาพบว่า การใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) ช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้

     แต่ก็ยังไม่มีการศึกษายืนยันชัดเจน บางการศึกษาพบว่าการให้วิตามินอี เสริมในขนาดสูงจะช่วยชะลอการเสียชีวิตได้ แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้

        การรักษาทางจิตสังคม ได้แก่

- การรักษาที่มุ่งเน้นการกระตุ้นสมอง เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด การบำบัดโดยอาศัยสัตว์เลี้ยง
- การบำบัดด้วยการรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต เช่น การรวมกลุ่มทำกิจกรรมแลก เปลี่ยนประสบการณ์ในอดีต การใช้ภาพถ่าย สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน ดนตรี ที่ผู้ป่วยคุ้นเคยในอดีตมาช่วยฟื้นความทรงจำ
- การให้เข้าไปอยู่ในห้องที่เรียกว่า Snoezelen room ซึ่งเป็นห้องที่ออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมภายในที่เหมาะกับวิธีการกระตุ้นการรับรู้และความรู้สึกที่หลากหลาย ที่เรียกว่า Multisensory integration อันได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับสัมผัส และการเคลื่อนไหว


 

        การให้การดูแลผู้ป่วย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะต้องเข้าใจอาการของโรค ทำใจ ยอมรับ อดทน ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยไว้คนเดียว และเข้าใจการดำเนินของโรคว่า ผู้ป่วยต้องอาศัยความช่วยเหลือเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ
 

       โรคอัลไซเมอร์ถือเป็นโรคที่ร้ายแรงที่ทุกคนห้ามมองข้าม ควรกลับไปดูแลผู้ใหญ่ที่บ้าน เพื่อป้องกันกับโรคที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่บ้าน เราควรจะกำจัดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่ต้นเลย

 
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Reporter
บทความโดยทีมงาน พันธุ์แท้.com

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles