[article] เจาะลึกโรคซึมเศร้า

 
 
 
เจาะลึก “โรคซึมเศร้า”
“โรคซึมเศร้า” เป็นโรคทางจิตเวชที่มีผู้เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ยังมีผู้รู้จักโรคนี้ไม่มากนัก บางคนเป็นโดยที่ตัวเองไม่ทราบ คิดว่าเป็นเพราะตนเองคิดมากไปเองก็มี ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และทันท่วงที

       รู้หรือไม่ !? ปัจจุบัน“โรคซึมเศร้า”เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากที่สุด ซึ่งผู้ป่วย“โรคซึมเศร้า”นั้นไม่ได้ถูกจัดประเภทว่าเป็นคนบ้าหรือคนไม่ดีแต่อย่างใด หากแต่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการป่วยทางอารมณ์ที่ควรได้รับการรักษา เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาในเร็ววันอาจส่งผลเสียถึงชีวิตอย่างหนักได้ โดยอาจจะมีพฤติกรรมคิดสั้นฆ่าตัวตาย ดังนั้น สาเหตุของการเกิดโรค อาการและวิธีรักษานับว่าจำเป็นอย่างมากที่ทุกคนจะต้องให้ความใส่ใจและความรู้ไว้ค่ะ

คุณมีอาการของ"โรคซึมเศร้า"หรือไม่ ??

รู้สึกเศร้าใจ,หม่นหมอง,หงุดหงิดหรือรู้สึกกังวลใจ,ไม่สบายใจ,รู้สึกไร้ค่า,ไม่มีสมาธิ,ไม่สามารถตัดสินใจเองได้,ความจำแย่ลง,อ่อนเพลียเมื่อยล้า,ไม่มีเรี่ยวแรง, กระวนกระวาย, ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ,คิดถึงแต่ความตายและอยากที่จะฆ่าตัวตาย
 
ถ้าหากคุณมีอาการเหล่านี้หลายข้อ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์
ระวัง!! คุณอาจจะกำลังเป็น
“โรคซึมเศร้า”

ทำความรู้จัก “โรคซึมเศร้า”
       “โรคซึมเศร้า” คือ โรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและความคิดนั้นเองค่ะ โดยอาการต่างๆ เหล่านี้นั้นจะคอยสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในประจำวันของเราเป็นอย่างมาก เช่น รับประทานอาหารของเราที่น้อยลง ความรู้กสึกเบื่ออาหาร อาการนอนไม่หลับ มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขกับชีวิตเอาเสียเลย ในหัวสมองมักมีแต่ความวิตกกังวลเต็มไปหมด ที่สำคัญผู้ป่วยไม่มีความสามารถในการประสานความคิดและความรู้สึกของตัวเองเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างดีพออีกด้วยนะคะ

สาเหตุของ “โรคซึมเศร้า”
       
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้านั้นมาจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของกรรมพันธุ์ ด้านพัฒนาการของจิตใจ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญอีกด้วย เช่น ผู้ป่วยประสบกับความเครียดที่แสนหนัก เจอมรสุมชีวิตที่ไม่ทันได้ตั้งตัว เกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรังจนทำให้หมดกำลังใจ ตกงาน มีปัญหาเรื่องการเงินที่หาทางออกไม่ได้ มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด รวมทั้งพบเจอกับความสูญเสียในชีวิตที่ทำให้เสียใจเป็นอย่าง และยังรวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางชนิด ก็สามารถส่งผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกันค่ะ
 
“โรคซึมเศร้า” มีถึง 3 ชนิด !!
“โรคซึมเศร้า” สามารถแบ่งออกได้ถึง 3 ชนิดเลยนะคะซึ่งแต่ละชนิดนั้นมี
รายละเอียดที่แตกต่างกันไปดังนี้
  • “โรคซึมเศร้า” แบบรุนแรง -  โรคซึมเศร้าชนิดนี้จะรบกวนการทำงาน การรับประทานอาหาร การนอนหลับ การเรียน รวมทั้งอารมณ์สุนทรีย์ของเราอีกด้วยค่ะ ซึ่งอาการของโรคซึมเศร้าชนิดนี้จะเกิดเป็นครั้งๆ แล้วหายไป แต่ทั้งนี้ก็สามารถเกิดได้บ่อยครั้งอีกด้วยนะคะ
  • “โรคซึมเศร้า” เรื้อรัง - เป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่อยู่ในภาวะที่รุนแรง และสามารถเป็นแบบเรื้อรัง มันสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดการสูญเสียความสามารถในการทำงานและความรู้สึกที่ดีได้
  • “โรคซึมเศร้า” อารมณ์ตก - เป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ซึ่งสำหรับบางคนแล้วนั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยส่วนมากจะค่อยเป็นค่อยไป เมื่อมีอาการซึมเศร้าก็จะมีอาการมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการพูดมากกว่าที่เคยเป็น มีความกระฉับกระเฉงมากเกินกว่าเหตุ มีพลังงานในร่างกายที่เหลือเฟือ ในช่วงอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุนั้น จะมีผลกระทบต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้ป่วย รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ป่วยอาจจะหลงผิด หากผู้ป่วยในภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นโรคจิต
วิธีป้องกัน “โรคซึมเศร้า”
       เมื่อสังเกตแล้วว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวกำลังตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าทั่วไป หรือแม้กระทั่งหลังผลการวินิจฉัยของแพทย์แล้วก็ตามว่าเป็นโรคซึมเศร้า คุณสามารถดูแลตัวเองหรือผู้ป่วยควบคู่ไปกับการบำบัดได้ดังนี้
 
  • ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและไม่มีความสามารถ การตั้งเป้าหมายเล็กๆ จะสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย
  • หางานอดิเรกทำ เช่น ทำอาหารหรือต่อจิกซอว์ ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกสนุกนัก แต่กิจกรรมยามว่างเหล่านี้จะช่วยสร้างสมาธิและทำให้สามารถจดจ่อได้มากขึ้น
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้สารเอ็นโดรฟิน (endorphin) หลั่งออกมา ซึ่งทำให้รู้สึกมีความสุข อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นสมองให้มีความตื่นตัวมากขึ้นในระยะยาว ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนักๆ แค่เดินออกกำลังสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งก็เพียงพอ
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้จะรู้สึกเบื่ออาหาร ผู้ป่วยควรพยายามรับประทานอาหารที่สด สะอาด และทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ ร่างกายจึงจะรู้สึกสดชื่นและมีพลังงาน
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ แม้การนอนจะเป็นเรื่องที่ควบคุมยากมากในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่การพักผ่อนให้เพียงพอ (6-8 ชั่วโมง) จะช่วยให้ลืมความกังวลไปได้ชั่วขณะ และเมื่อตื่นขึ้นมาร่างกายและสมองก็จะมีความพร้อมสำหรับกิจกรรมของแต่ละวันมากขึ้น
 
​“โรคซึมเศร้า” รักษาได้และรักษาอย่างต่อเนื่อง
 คนใกล้ชิดช่วยได้

 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
       ไม่ควรตั้งเป้าหมายในการทำงานมากจนเกินไป และไม่ควรรับผิดชอบทุกอย่างจนเกินความสามารถของตัวเอง ควรแยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อย แล้วค่อยๆ เรียบเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังเพื่อลงมือแก้ไข ห้ามบังคับตัวเองหรือตั้งเป้าหมายกับตัวเองสูงเกินไป เพราะนั่นจะยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดันและเสี่ยงต่อความล้มเหลวในภายหลัง หมั่นหากิจกรรมที่ชอบและทำให้ตัวเองรู้สึกดีมาทำบ่อยๆ เพื่อให้เกิดอารมณ์ที่เพลิดเพลินและทำให้มีชีวิตชีวาสดใส สุดท้าย ไม่ควรตำหนิตัวเอง เมื่อไม่สามารถทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จได้ตามที่วางแผนไว้ ควรรู้จักให้อภัยตัวเองและให้โอกาสตัวเองได้เริ่มต้นใหม่

การรักษาโรคซึมเศร้าปัจจุบัน
การใช้ยาต้านซึมเศร้า
       
ยารักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันให้ผลดีและมีผลข้างเคียงน้อยและสามารถแก้ไข้ได้แต่ปัญหามักอยู่ที่ผู้ป่วยมักหยุดยาเอง เนื่องจากกินยาแล้วดีขึ้นแล้วเข้าใจผิดว่าหายแล้วจึงหยุดกินยา หรือบางรายเบื่อหน่ายในการกินยาหรือกินยาแล้วมีผลข้างเคียงจึงหยุดกินยาเอง ซึ่งการหยุดยาเองจะมีผลเสียมาก เนื่องจากจะทำให้อาการซึมเศร้ากลับมาเป็นซ้ำอีก
การรักษาโดยการไม่ใช้ยา
       สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่ใช้ยานั้นทำได้ด้วยการเปลี่ยนความคิดเพื่อพิชิตความเศร้า และรวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น นั่นก็คือ ผู้ป่วยที่มีอารมณ์เศร้ามักจะมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งก็เป็นวัฏจักรที่จะทำให้ภาวะซึมเศร้านั้นอยู่กับตัวผู้ป่วยนาน ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเกิดอารมณ์เศร้าจึงควรบอกและค่อยๆ พูดกับผู้ป่วยให้หยุดเศร้าสักประเดี๋ยว แล้วให้ย้อนกลับไปคิดว่าเมื่อสักครู่เกิดอะไรขึ้น เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแน่นอนว่าจะมีความคิดอะไรบางอย่างแว็บเข้ามาในสมอง จากนั้นให้ลองพิจารณาดูว่าความคิดนั้นถูกต้องแค่ไหน หากคิดว่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ อารมณ์จะดีขึ้นทันที อย่างน้อยก็จะทำให้ผู้ป่วยมองโลกในแง่ดีจนกว่าจะเผลอไปคิดในแง่ร้ายอีกครั้ง


       สุดท้ายนี้ “โรคซึมเศร้า” หากปล่อยไปโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด นอกจากจะทำให้มีอาการที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นแล้ว อาจส่งผลเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และคนรอบข้างได้นะคะ เพราะโรคซึมเศร้านั้น เป็นโรคที่ผู้ป่วยไม่มีสติอยู่กับตัว ลงมือทำอะไรลงไปมักไม่ค่อยมีสติ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียใดๆ จึงควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นการดีที่สุดค่ะ


 
Created date : 16-10-2017
Updated date : 16-10-2017
  • TAGS  
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Reporter
บทความโดยทีมงาน พันธุ์แท้.com

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles