[article] ทำความรู้จัก แอนแทรกซ์ โรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์

 
 
 
 

 


ทำความรู้จัก "แอนแทรกซ์"
โรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์

 

       "โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) หรือชาวบ้านเรียกว่า "โรคกาลี" เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร โรคมักจะเกิดในท้องที่ซึ่งมีประวัติว่าเคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน แต่ปัจจุบันเนื่องจากการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว พ่อค้าสัตว์มักจะนำสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคไปขายในท้องถิ่นอื่น ทำให้เกิดการกระจายของโรคไปไกล ๆ ได้ 


       โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงของสัตว์แทบทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า อัตราป่วยตายสูงมาก คือร้อยละ 80 - 90 ส่วนมากมักจะเกิดในสัตว์ที่กินหญ้าเป็นอาหารก่อน เช่น โค กระบือ แพะ แกะ ม้า ลา และฬ่อ แล้วติดต่อไปยังสัตว์อื่น เช่น สุกร สุนัข แมว หรือสัตว์ป่าอย่างอื่นที่มากินซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้
 
 
       สถานการณ์โรคก่อนระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยในทุกภาคของประเทศส่วนมากติดโรคจากโค กระบือ ยกเว้นมีบางครั้งที่ติดต่อจากแพะ ที่ปัตตานี และติดต่อจากแกะที่ลพบุรี ในระยะ 10 ปีเศษๆที่ผ่านมาไม่พบโรคนี้ในภาคใต้ แต่ยังคงพบโรคนี้ในภาคกลาง เช่น เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ภาคเหนือที่ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม หนองคาย อุบลราชธานี เป็นต้น ส่วนมากพบผู้ป่วยตามจังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการลักลอบนำโคกระบือติดโรคที่ยังมีชีวิตเข้ามาชำแหละเนื้อไปจำหน่าย หรือนำเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้เข้ามาจำหน่ายในราคาถูกๆ

วิธีการติดต่อในคน



การเกิดโรคในคน เชื้อนี้สามารถทำให้เกิดโรคในคนได้ 3 รูปแบบ
- ที่ผิวหนัง 
- ที่ปอดจากการสูดดม 
- ที่ทางเดินอาหารและ oro-pharynx จากการกินเชื้อนี้เข้าไป




       
       แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง (cutaneous anthrax) - อาการที่พบคือ จะเริ่มเกิดเป็นตุ่มแดง ๆ ตรงที่รับเชื้อ ซึ่งส่วนมากจะอยู่นอกร่มผ้า เช่น มือ แขน ขา แต่อาจพบที่ลำตัวหรือกลางหลังได้ กรณีถอดเสื้อตอนผ่าซากสัตว์ ตุ่มที่พบตอนแรกนี้จะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส แล้วเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตุ่มหนองแล้วแตกออกเป็นแผลยกขอบตรงกลางบุ๋มมีสีดำ (black escalate) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ในเวลาเดียวกันถ้ายังไม่ได้รับการรักษาก็จะมีตุ่มใหม่เกิดขึ้นรอบๆ แผลเดิมขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ บางครั้งรอบๆแผลจะบวมแดง แต่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ ยกเว้นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง ปกติแผลที่เกิดจากเชื้อแอนแทรกซ์จะหายยาก ถ้าได้รับการรักษาช้า เพราะเป็นแผลเนื้อตายซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากพิษ(toxin) ของตัวเชื้อ อัตราป่วยตายกรณีไม่ได้รับการรักษาไม่สูงนัก อยู่ระหว่างร้อยละ 5-20 เท่านั้น



       แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร (intestinal anthrax)
ผู้ป่วยที่กินเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่างๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ให้การรักษาอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้ ดังนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษาควรเน้นการซักประวัติการรับประทานอาหารจากผู้ป่วย เมื่อพบผู้ป่วยที่มีลักษณะดังกล่าว ในรายที่มีอาการอุจจาระร่วงมักจะพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าในกระแสเลือด เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ในกรณีนี้จะมีอัตราการป่วยตายถึงร้อยละ 50-60 มีผู้ป่วยบางรายกินเนื้อที่ติดเชื้อแล้วเคี้ยวอยู่ในช่องปากนาน ทำให้เกิดแผลในช่องปากและหลอดคอได้ (oropharyngcal anthrax) ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอจะบวม และลามไปถึงใบหน้า


       แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินหายใจ (pulmonary anthrax) โดยทั่วไปจะพบผู้ป่วยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับขนสัตว์ กระดูกป่น ที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย แล้วหายใจเอาสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป อาการที่พบในช่วงแรกๆ จะคล้ายกับผู้ป่วยทางเดินหายใจตอนบน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ และตายจากอาการของระบบหายใจล้มเหลวในช่วงเวลาเพียง 3-5 วันหลังรับเชื้อ อัตราการป่วยตายของผู้ป่วยระบบนี้จะสูงมากถึงร้อยละ 80-90


     ในช่วงต้น ๆ ของการระบาดของโรค (ปลายฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน) สัตว์จะติดโรคจากการกินและจากการหายใจพร้อม ๆ กัน โดยเกิดจากขณะที่สัตว์แทะเล็มกินหญ้าก็จะดึงเอารากที่ติดดินขึ้นมาด้วย สปอร์ของแอนแทรกซ์ที่ติดอยู่ตามใบหญ้าและในดินก็จะเข้าทางปากและฝุ่นที่ปลิวฟุ้ง ขณะดึงหญ้าสปอร์ก็จะเข้าทางจมูกโดยการหายใจเข้าไป
 
 

วิธีรักษาการเกิดโรคในคน

       1. ผู้ป่วยที่เป็นแอนแทรกระบบทางเดินหายใจ ยังไม่มีหลักฐานว่าการใช้ยากลุ่มไหนจะได้ผลดี โดยเชื้อที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเชื้อจะไวต่อยา penicillin ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้เป็นลำดับแรก นอกจากนี้ยา Doxycyclin และ Ciprofloxacin ก็แนะนำให้ใช้ นอกจากนั้นหลังจากให้ยาฉีดจนหายดีแล้วยังแนะนำต้องให้ยารับประทานอีก 60 วันเพราะว่าการติดเชื้อนี้จะไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกัน การให้ยาอีก 60 วันเพื่อป้องกัน spore ที่เจริญช้า หากได้รับการฉีดวัคซีนก็สามารถลดระยะเวลาที่ให้ยาปฏิชีวนะลงเหลือ 30-45 วัน
 
       2. ผู้ที่เป็นแอนแทรกที่ผิวหนังให้ยารับประทาน เช่น Amoxycillin ,Docycyclin, Ciprofloxacin นาน 7-10 วัน



การป้องกันหลังสัมผัสโรค

       ยังไม่ได้กำหนอแนวทางชัดเจน การกำหนดต้องคำนึงถึง สถานที่ สภาพอากาศจำนวนคนที่ติดเชื้อ หากพิจารณาแล้วว่าต้องให้ยาปฏิชีวนะก็พิจารณาให้ยากลุ่มดังกล่าวมาแล้วโดยต้องให้ยานาน 60 วัน

 

การวินิจฉัย 
       การวินิจฉัยจะค่อนข้างยากเนื่องจากไม่ใคร่ได้พบโรคนี้ ให้สงสัยในกรณีที่มีกลุ่มคนไข้ที่มีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่แล้วเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในเวลา 24-48 ชั่วโมงเป็นจำนวนมาก
       การวินิจฉัยผู้ป่วยแอนแทรกซ์ทางระบบหายใจให้สงสัยในรายที่มีอาการดังกล่าวร่วมกับภาพถ่ายรังสีทรวงอก การตรวจเสมหะมักจะไม่พบเชื้อ การตรวจทางโลหิตหากนำเลือดไปปั่นแล้วย้อมก็อาจจะพบเชื้อในเลือด จะทำให้วินิจฉัยได้เร็วยิ่งขึ้นและให้การรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น การเพาะเชื้อจากเลือดใช้เวลา 2-3 วันอาจจะไม่ทันการณ์ หากมีแผลที่ผิวหนังก็สามารถขูดที่ก้นแผลแล้วไปย้อมก็สามารถพบเชื้อได้เหมือนกัน


     การควบคุมการติดเชื้อ

        เชื้อนี้ไม่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องแยกผู้ป่วย ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือรับประทานยาป้องกัน นอกเสียจากว่าสงสัยว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันและกลัวว่าจะได้ spore ของเชื้อ

       เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตลง ต้องระวังการแพร่เชื้อจากศพ ต้องฝั่งหรือเผา การดองศพอาจจะเป็นแหล่งให้แพร่เชื้อ การทำลายเชื้อหรือ spore สามารถทำได้หลายวิธีคือ ต้มที่ 100 องศาเป็นเวลา 30 นาที หรือการเผา 



       อย่างไรก็ตาม ภาวะโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกว่ากำลังเป็นโรคระบาด เพราะนอกจากจะยังไม่พบการระบาดแพร่กระจายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแล้ว เรายังไม่พบการติดต่อของโรคจากมนุษย์สู่มนุษย์ พบเพียงมนุษย์ที่ติดเชื้อจากการทานเนื้อสัตว์ หรือสัมผัส และใกล้ชิดกับสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น ดังนั้นอย่าเพิ่งตื่นตระหนก แต่ควรระมัดระวังการใกล้ชิด หรือไม่ทานเนื้อสัตว์ที่ป่วยจะดีที่สุด

 

 
กดติดตามกัน เพื่อรับเรื่องราวดีๆ
Post by : Pantae Reporter
บทความโดยทีมงาน พันธุ์แท้.com

- Goto Top -
Lastest Update
 
Other Articles